*เป็นคอนเท้นที่เขียนไว้นานมากแล้ว แต่ไม่ได้เผยแพร่ที่ไหน เลยเอามาให้อ่านเล่นๆ
การเดินทาง
การเดินทางไปประเทศไต้หวันครั้งนี้ใช้บริการสายการบิน China Airlines ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของไต้หวัน ขึ้นบินจากสนามบินสุวรรณภูมิ ตรงไปจนถึง กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน จากนั้นจึงนั่งรถไฟความเร็วสูง (high speed rail train) ไปยังสถานี Taichung เพื่อขึ้นรถตู้ที่ทางผู้จัดงานมารอรับ ไปจนถึงณ อำเภอ Wufeng เป็นสถานที่ตั้งของ National Taiwan Symphony Orchestra (NTSO) ซึ่งเป็นที่ฝึกซ้อมและเป็นที่พักของเราด้วย
กิจกรรม
กิจกรรมค่ายเริ่มขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ซึ่งนักดนตรีที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมจะเข้าเช็คอินกับที่พักของวง นักดนตรีส่วนใหญ่คือเยาวชนอายุตั้งแต่ 13 – 22 ปี จากหลากหลายโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจาก Audition Video ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ปีนี้เป็นปีแรกที่คนไทยได้รับเกียรติให้เดินทางมาร่วมกิจกรรมค่ายนี้ ซึ่งเราเดินทางกันมา 9 คน (รวมอาจารย์ 1 ท่าน) หลังจากนั้นก็รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ก่อนเข้าพิธีเปิดและพักผ่อนตามอัธยาศัย
15 สิงหาคม 2561
ในช่วงครึ่งวันเช้าของวันนี้เป็นการคัดเลือกนักดนตรีเพื่อจัดตำแหน่งในวง ซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้น นักดนตรีทุกคนตื่นมาเตรียมตัวกันตั้งแต่เช้าตรู่ ทันทีที่ถึงเวลาก็เรียกนักดนตรีเข้าไปทีละคนเรียงตามกลุ่มเครื่องดนตรี คณะกรรมการคัดเลือกก็คือคณาจารย์ที่ได้รับเชิญมา มีทั้งที่เป็นนักดนตรีอาชีพในไต้หวันและจากต่างประเทศ โดยผ่านความเห็นชอบจากวาทยากรและผู้อำนวยการดนตรี Mei-Ann, Chen บรรยากาศการออดิชั่นก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นจนไปเสร็จสิ้นเวลา 12.00 น.หลังจากรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันแล้ว ในช่วงบ่ายจึงเป็นการพบกับอาจารย์ ถือเป็นความโชคดีของข้าพเจ้าที่มีโอกาสได้พบกับอาจารย์บาสซูนซึ่งเป็นอดีตหัวหน้ากลุ่มบาสซูนของวง Taipei Symphony Orchestra และความประหลาดใจที่ได้รับอีกเรื่องหนึ่งคือการได้รับมอบหมายบทเพลงให้บรรเลงมากขึ้นถึง 2 บทเพลง (ตั้งแต่แรกข้าพเจ้าได้รับเชิญมาให้บรรเลงเพลงของ Bernstein Symphonic Dances from West Side Story และ Candide Overture ในตำแหน่ง Contrabassoon) ได้แก่ Mendelssohn’s Midsummer Night’s Dream Overture และ Mozart’s Piano Concerto No.23 in A major ในตำแหน่ง 2nd Bassoon ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน อีกทั้งยังเป็นบทเพลงที่มีความละเอียดมาก ต้องใช้ทักษะการบรรเลงแบบ chamber music อีกทั้งในท่อนที่ 3 ของ piano concerto ยังมีความยากมาก เพราะบรรเลงโน้ตเดียวกับ low string section ด้วยความเร็วแบบ presto ในช่วงค่ำหลังจากรับประทานอาหารเย็นก็เป็นกิจกรรมการเดินชมสถานที่ ซึ่งทีมเยาวชนไทยเราก็เดินทั่วแล้ว เพราะมีสมาชิกจากค่ายแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมมาด้วย
16 สิงหาคม 2561
เวลา 9.00 น. ของวันเป็นการถ่ายรูปรวมของสมาชิกในค่ายรวมถึงอาจารย์ทุกท่านร่วม 100 ชีวิต เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่จะบันทึกไว้ในความทรงจำของเราทุกคน จากนั้นก็จะเป็นการซ้อม sectional ของแต่ละกลุ่มเครื่องดนตรีกับวาทยกร ณ หอแสดงดนตรี เป็นการซ้อมครั้งแรกร่วมกับวาทยากรท่านนี้ ทำให้เราทราบถึงทักษะความสามารถและความรู้ความเข้าใจทางดนตรีอันลึกซึ้งซึ่งแสดงออกมาทางการควบคุมวงและการอธิบายบทเพลง แต่ความลำบากประการหนึ่งที่พวกเราได้รับคือ เขาพูดเป็นภาษาจีน ทว่าตัววาทยากรเองมีชื่อเสียงจากการทำงานในอเมริกา ทำให้สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างดีเยี่ยม แต่ด้วยความที่เด็กๆในวงเป็นคนไต้หวันเสียส่วนใหญ่ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดภาษาจีน ข้าพเจ้าจึงต้องอาศัยเพื่อนนักบาสซูนให้ช่วยอธิบายตรงส่วนสำคัญๆและสอนนับเลขเป็นภาษาจีนเพื่อให้ตามวาทยากรทัน ต้องขอบคุณเพื่อนคนนี้ที่ดูแลข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่านี่จะเป็นการซ้อมครั้งแรก แต่ข้าพเจ้าก็สัมผัสได้ถึงความแตกต่างของวงเยาวชนในไทยและในต่างไต้หวันได้อย่างชัดเจน ประการแรกคือ ถึงแม้ว่าจะเป็นการซ้อมครั้งแรก ทุกๆคนก็สามารถบรรเลงได้เกิน 80% ของโน้ตที่ได้รับไป ประการที่ 2 ทุกคนสามารถ ‘ร้อง’ โน้ตพาร์ทของตัวเองได้ เพราะสิ่งแรกที่วาทยกรให้ทำก่อนการซ้อมนั่นก็คือ mental practice โดยการร้องโน้ตพาร์ทตัวเองเป็น solfege ซึ่ง ‘ทุกคน’ สามารถร้องได้ตรงเสียง ถือได้ว่าเป็น cultural shock ที่ข้าพเจ้าไม่เคยประสบมาก่อน และเมื่อถึงเวลากลับไปไทย ข้าพเจ้าจะต้องฝึก ear training เพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นอีก ในช่วงบ่ายเป็นการแยกซ้อมกับวิทยากรตามเครื่องดนตรี และรวมวงในช่วงค่ำ
17 สิงหาคม 2561
เช้าวันนี้คือการรวมวงครั้งที่ 2 และซ้อมส่วนตัวในช่วงบ่าย ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นวัฒนธรรมการซ้อมของเด็กๆที่นี่คือต้องมีการจองห้องซ้อม คนนึงจะจองได้ 2 ชั่วโมง ต้องลงชื่อไว้ล่วงหน้า ถ้าใครช้าก็อาจจะหมดสิทธิ์ใช้ห้องซ้อมต้องไปซ้อมในห้องนอน ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า การจัดระบบเช่นนี้จะทำให้การซ้อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเรามีเวลาจำกัด ใช้ห้องเสร็จแล้วก็จะมีคนมาต่อ ทำให้เราต้องบริหารจัดการเวลาซ้อมดีๆ ทำให้มีสมาธิมากขึ้น การซ้อมจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่างกับตอนที่ข้าพเจ้าอยู่ประเทศไทย ที่ใครได้ห้องซ้อมก็นั่งอยู่ไปได้เลยทั้งวัน จะนอนเล่น จะนั่งเล่นมือถือ หรือชวนเพื่อนเข้าไปสังสรรค์ก็ยังได้ คนที่จะซ้อมเลยไม่มีที่ซ้อม คนมีที่ซ้อมก็ไม่ได้ซ้อม (เพราะมัวนั่งเล่น) เลยไม่เก่งกันสักที ในช่วงค่ำของวันนี้มีกิจกรรมพิเศษนั่นคือ Professor Chamber Music Concert เป็นคอนเสิร์ตพิเศษที่บรรเลงโดยวิทยากรค่ายทุกท่านร่วมกับนักเรียนบางคน บทเพลงที่บรรเลงได้แก่
Dvorak’s String Quartet No.12 in F major, Op.96 (ท่อน 1,2 และ 4)
Vivaldi’s Concerto No.100in B minor for 4 Violins, Op.3 RV 580
Rubtsov’s “Three Moods” for Woodwind Quintet
Brahms’s String Sextet No.2 in G major, Op.36 (ท่อน 1 และ 4)
และบทเพลง Brass Quintet อาธิ Albinoni’s “Saint Mark” Sonata, Renwick’s Dance เป็นต้น
ข้าพเจ้าประทับใจกับบทเพลงเครื่องสายเป็นอย่างมาก ด้วยคุณภาพเสียงและคุณภาพการแสดง ซึ่งหาฟังได้ยากยิ่งในประเทศไทย
18 สิงหาคม 2561
เช้าวันนี้เริ่มต้นด้วยความสับสนในตารางเวลา เพราะทีมงานจัดกิจกรรมสื่อสารไม่ชัดเจน เนื่องด้วยตารางเวลาในช่วงเช้ามี 3 กิจกรรมซ้อนกันคือ Violin Masterclass, Trombone Masterclass และ Woodwind Sectional ทางทีมงานชี้แจงไว้ว่าคนที่ไม่มีซ้อมสามารถเข้าร่วมรับฟังการ masterclass ตามความสนใจได้ สำหรับข้าพเจ้าที่ต้องซ้อม sectional จึงไม่สามารถเข้ารับฟังได้ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ทว่าหลังจาก woodwind sectional จะมี low string sectional ซึ่งเพื่อนๆชาวไทยข้าพเจ้า 3 คนต้องเข้าซ้อมในช่วงนี้ ทว่ามีทีมงานคนหนึ่งกลับเข้ามาบอกว่าพวกคุณต้องเข้าไปรับฟัง Violin Masterclass (ทั้งๆที่มีซ้อม sectional) ยังไม่หมดเท่านั้นก็กลับไปต่อว่ารุ่นน้องที่เล่นเปียโนและรุ่นพี่ที่เล่นกลองชุดว่าทำไมไม่เข้าไปซ้อม และก็ให้เข้าไปนั่งในห้องซ้อมเครื่องสายอย่างไม่มีเหตุผล จนวาทยกรเองก็สงสัยว่ามาทำอะไร จนหัวหน้าทีมงานเดินผ่านมาเห็นจึงพาออกมา เป็นความสับสนจองทีมงานที่ไม่ตกลงเวลารวมถีงไม่ชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน อีกทั้งเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ไม่ได้แสดงความเสียใจหรือขอโทษแต่อย่างใด ทว่าก็ผ่านไปได้ไม่ได้เกิดปัญหาขึ้นกับทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด หลังจากรวมวงในช่วงบ่าย พวกเราทุกคนก็เดินทางเข้าไปในเมืองเพื่อเที่ยว night market แต่ด้วยสภาพอากาศไม่เป็นใจ ฝนตกหนัก เลยไม่ได้เดินเที่ยวนานนัก ต้องรีบกลับที่พัก
19 สิงหาคม 2561
ช่วงเช้าของวันนี้มีกิจกรรม Clarinet Masterclass, Trumpet Masterclass และ String Sectional ข้าพเจ้าไม่มีตารางซ้อมในช่วงเช้านี้จึงเข้าไปรับฟัง Clarinet Masterclass โดยอาจารย์ Werner Raabe จากประเทศเยอรมนี มีนักเรียนมาบรรเลงในกิจกรรมนี้ 4 คน ด้วยบทเพลงที่แตกต่างกัน ที่มีสไตล์ เทคนิคการเล่น รวมถึงความลึกซึ้งทางดนตรีที่แตกต่างกัน เลยทำให้ได้เห็นถึงระดับความสามารถของเยาวชนไต้หวัน ทุกๆคนสามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ทุกคนมีพื้นฐานทางดนตรีที่ดีมากพอ จนวิทยากรไม่จำเป็นต้องอธิบายเรื่องพื้นฐานเพิ่มเติม สามารถพูดถึงเรื่องเทคนิคและดนตรีได้ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องระบบการศึกษาในประเทศไต้หวันที่รุ่นพี่ของข้าพเจ้าเล่าให้ฟังว่า ในประเทศไต้หวัน การศึกษาดนตรีถูกบรรจุไว้ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กทุกคนต้องได้เรียนดนตรีตั้งแต่อนุบาล รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษ เด็กๆทุกคนต้องสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษจึงจะสามารถเลื่อนชั้นได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไต้หวันแทบทุกคนจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ หรืออย่างแย่ที่สุดก็คือพอเข้าใจแล้วใช้แอพพลิเคชั่นแปลภาษาช่วย อีกทั้งประเทศไต้หวันยังเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาบ่อยครั้ง การพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับเยาวชนจึงช่วยให้การท่องเที่ยวในประเทศไต้หวันเป็นได้ง่ายขึ้น การเชิญวิทยากรที่มีความรู้จากต่างประเทศก็เป็นได้ง่าย เพราะทุกคนสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ จึงอดไม่ได้ที่จะที่เราควรจะกลับมาปรับปรุงพัฒนาการศึกษาของชาติไทยให้ทัดเทียมกับประเทศใกล้เคียงมากขึ้น
ในช่วงบ่ายของวันนี้ข้าพเจ้าไปเข้ารับฟัง Conducting Workshop กับวาทยกร เรื่องที่ได้เรียนคือเรื่องเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตรา รวมไปถึงเรื่องการเป็นวาทยากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์ Mei-Ann กล่าวไว้ว่าคุณไม่สามารถขึ้นไปบน podium ได้ ถ้าบนสกอร์ของคุณว่างเปล่า คุณต้อง ‘ทำงาน’ มาก่อน ถึงจะมีค่าพอให้ขึ้นเวทีได้ (You cannot go on a podium with empty score. You need to work on your music beforehand, and then you will worth enough to be on stage.)
20 สิงหาคม 2561
กิจกรรมในวันนี้คือ ช่วงเช้าเป็นการซ้อมส่วนตัว ช่วงบ่ายคือการซ้อมรวมวง และในช่วงค่ำวันนี้คือกิจกรรมพิเศษ การอบรมเรื่อง Alexander’s technique ซึ่งคือเรื่องของการผ่อนคลายร่างกาย เพื่อแก้นิสัยการเคลื่อนไหวหรือการนั่งการยืนแบบผิดๆ ทำให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อขึ้น ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและสุขภาพ เทคนิคนี้คิดค้นขึ้นโดยนักแสดงละครเวที Frederick Matthias Alexander ผู้ประสบปัญหาระหว่างการแสดงคือ ไม่สามารถพูดหรือร้องได้ทั้งๆที่ยังอยู่ระหว่างการแสดงโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น เขาจึงเดินทางไปปรึกษาแพทย์แต่ก็ได้เพียงคำตอบว่าให้ผ่อนคลาย พักผ่อนเยอะๆแล้วจะดีขึ้นเอง เขาจึงเริ่มต้นการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับร่างกายและการยศาสตร์ จนเป็นที่มาของ Alexander Technique นี้เอง
22 สิงหาคม 2561
กิจกรรมตั้งแต่วันที่ 21 จนถึงเช้าวันที่ 22 นั้นยังคงคล้ายกับทุกวัน คือมีการรวมวงในช่วงเช้า และการซ้อมส่วนตัวในช่วงบ่าย แต่บ่ายวันที่ 22 สิงหาคมนี้เป็นพิธีปิดกิจกรรมค่าย ขอบคุณอาจารย์ที่สอนพวกเรามา 10 วัน ก่อนที่เราจะได้ไปเล่นคอนเสิร์ตในวันที่ 24-26 สิงหาคม รวมถึงการมอบเกียรติบัตรให้กับตัวแทนเยาวชน ซึ่งตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยก็ได้รับการขอบคุณที่มาร่วมกิจกรรมและได้รับเกียรติบัตรด้วย ในช่วงค่ำของวันนี้เป็นกิจกรรมพิเศษอีกกิจกรรมหนึ่งคือ Professor Chamber Concert II ความพิเศษของกิจกนนมนี้คือการให้เยาวชนนักดนตรีได้ร่วมเล่น chamber music กับคณาจารย์ เริ่มต้นด้วย Percussion Ensemble ซึ่งเยาวชนไทยของเราก็ได้ไปร่วมเล่น 2 คน คนหนึ่งคือพี่มอส รุ่นป.โท ศิลปากร เล่น Marimba และน้องสต็อป นักศึกษาป.ตรี ปี 1 ศิลปากรเอกเปียโน ก็ได้เล่น vibraphone ด้วย ทำให้เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมาก ต่อมาด้วยวง Horn Ensemble มาในบทเพลง Til Eulenspeigel Blues ที่นำทำนองดั้งเดิมของ Richard Strauss มาเปลี่ยนให้เป็นไปในสไตล์เพลง Blues แบบสนุกสนาน และเพิ่ม double bass ซึ่งก็บรรเลงโดยคนไทย ที่ทัวร์ ว่าที่นิสิตป.เอก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพี่มอส ซึ่งกลับมาบรรเลงกลองชุด การแสดงดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สร้างความครึกครื้นให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างมาก (แต่ข้าพเจ้ากลับมาทราบทีหลังว่าทางทีมงานจัดเวทีตั้งกลองชุดให้แต่ลืมกระเดื่อง bass drum ทว่าด้วยประสบการณ์และความสามารถของพี่มอส ทำให้การแสดงสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น) ต่อด้วยบทเพลงของวง Brahms’s Serenade และ Brass Ensemble ก่อนที่จะจบลงด้วย highlight ของงานคือบทเพลง Tchaikovsky’s String Serenade in C major, Op.48 ผลงานชิ้นเอกของคีตกวีชาวรัสเซียผู้นี้ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั่วโลกมานานนับร้อยปี ประกอบกับคุณภาพการแสดงของวง ถึงแม้ว่าสมาชิกเกินครึ่งจะเป็นเยาวชนของประเทศไต้หวัน (แต่มีพี่บี นักศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร เอก double bass ไปร่วมบรรเลงด้วย) แต่คุณภาพการแสดงกลับไม่แพ้วงผู้นักดนตรีอาชีพ ประกอบกับการที่วาทยากร อาจารย์ Mei-Ann มาควบคุมวงด้วยตนเอง ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจจนต้องหลั่งน้ำตาออกมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ การแสดงคอนเสิร์ตในคืนนี้จึงจบลงด้วยเสียงปรบมือของผู้ชมอย่างยาวนานกึกก้อง
23 สิงหาคม 2561
วันนี้คือการซ้อมวันสุดท้ายก่อนการแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งต้องเดินทางไปต่างเมือง ก่อนเริ่มการฝึกซ้อมวาทยกรได้กล่าวให้กำลังใจกับนักดนตรี จับใจความได้ว่า ตลอดระยะเวลา 10 วันด้วยกันมานี้ พวกเราพยายามเป็นอย่างมากที่จะบรรเลงดนตรีออกมาด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยม ขอให้ทุกคนรักษาความตั้งใจนี้ไว้ และในการแสดงคอนเสิร์ตอีก 3 วันข้างหน้า ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการเล่นดนตรี ให้สมกับความเหนื่อยยากที่เราทำมา การซ้อมก็ดำเนินไปจนถึงเวลาพักเที่ยง ช่วงบ่ายให้ซ้อมส่วนตัวและกลับมารวมวงกันในตอนเย็น ความพิเศษของวันนี้คือการเล่น ‘เก้าอี้ดนตรี’ การฝึกซ้อมในเย็นวันนี้ดำเนินไปตามปกติ แต่ ทุกคนสามารถย้ายไปนั่งที่ไหน ตรงไหนก็ได้ในวง ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดิม ทำให้การเล่นเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อคนในกลุ่มเครื่องดนตรีเดียวกับย้ายไปนั่งที่อื่น ทำให้เราต้องฟังกันมากขึ้นถึงจะเล่นเข้ากันได้ แต่ข้อดีของการทำเช่นนี้ นอกจากการที่จะต้องมีสมาธิกับการฟังมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราได้ยินแนวของเครื่องดนตรีอื่นๆด้วย ซึ่งก็น่าแปลกใจมากที่ทุกคนก็ยังสามารถบรรเลงได้เป็นอย่างดี ไม่ต่างจากการนั่งซ้อมในวงปกติมากนัก และการซ้อมก็เสร็จสิ้นลง ทุกคนแยกย้ายกันไปพักผ่อน เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไปบรรเลงคอนเสิร์ตในวันพรุ่งนี้
ความรู้ที่ได้รับ
Bassoon
- เรื่องลมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเสมอ ถ้าจักรยานไม่มีลมในยาง ก็ไม่สามารถปั่นไปได้เช่นใด เล่นเครื่องเป่าแต่ไม่ใช้ลมให้มากพอก็ไม่สามารถเล่นเสียงให้ดีได้เช่นนั้น
- การทำลิ้นต้องใจเย็นๆ เราไม่สามารถทำให้ลิ้นสมบูรณ์ 100% ได้ตั้งแต่วันแรก
Conducting (Chen, Mei-Ann’s Quotes)
- “Conducting is about being the music”
- “It’s not about you, it’s about music”
- “Listen like crazy!”
- “If you want to stop, what you going to say to the orchestra?” (You should tell them what they need to do, not just praised them.)
นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังสังเกตได้อีกว่า
- วาทยากรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญให้การซ้อมมีบรรยากาศเชิงบทและมีประสิทธิภาพมาก เพราะอาจารย์ Mei-Ann ไม่เคยทำให้นักดนตรีต้องนั่งรออย่างเสียเวลาเปล่า ไม่มีการทำเหมือนซ้อม sectional ในระหว่างการ rehearsal เลย (ต่างจากที่ข้าพเจ้าประสบมาด้วยตนเองตอนอยู่ที่ประเทศไทย) และจะไม่มีการ run-through อย่างเปล่าประโยชน์ ซ้อมแต่ตรงสวนสำคัญและส่วนที่มีปัญหาจริงๆเท่านั้น (นักดนตรีเองก็ต้องมีความรับผิดชอบมากพอด้วยเช่นกัน)
- สังคมในวงนี้คือสังคมแห่งการให้กำลังใจกัน ในทุกๆครั้งของการซ้อม วาทยากรจะขอเสียงปรบมือให้กับนักดนตรีที่เล่น solo สำคัญในบทเพลงได้เป็นอย่างดี รวมถึง que เข้าที่ยากๆก็จะได้รับคำชมด้วยสีหน้า รอยยิ้ม และท่าทาง (ยกนิ้วโป้ง) จากวาทยากรอยู่เสมอ
- อาจารย์ Mei-Ann จะใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลอยู่เสมอ พูดด้วยเหตุผล ไม่มีการใช้อารมณ์ส่วนตัวหรือแสดงท่าทีไม่พอใจแต่อย่างใด มีแต่ความจริงจัง ชัดเจน ทว่าก็รับฟังความคิดเห็นจากคณาจารย์ทุกท่าน รวมถึงตัวนีกดนตรีด้วยในบางครั้ง
- การควบคุมวงของอาจารย์มีความชัดเจน มีการให้ preparation ก่อนจังหวะสำคัญๆในบทเพลง อีกทั้งยังดูง่าย ชัดเจน มีจังหวะหนักเบา ทำให้นักดนตรีสามารถแสดง expression ได้โดยเพียงการดูจากมือของอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาพูดแต่อย่างใด
- เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ทุกๆวินาทีคือเงิน นี่คือสิ่งที่อาจารย์ Mei-Ann แสดงให้เราเห็นจากการเรียนกับท่านมาตลอด 10 วันนี้
ศรัณญ์ จิระวิชฎา
24 สิงหาคม 2561